นี่มันอะไรครับเนี่ย

ดูจบแล้วผิดหวังกับโกรธ ตรงที่งานลำดับนี้มันดันกลายเป็นโฆษณาแบบยาวมาก และเอาเปรียบคนดูไปหน่อยตรงยัดโฆษณาตรงๆ เข้ามาแบบเต็มเหยียด แบบโคตรไม่เคารพเส้นงานเลยว่า “มึงเป็นหนังนะ มึงไม่ใช่โฆษณา” ชิ้นส่วนการจัดองค์ประกอบเพื่อ “ขาย” มันชัดเจนมากกว่าการ “ให้” จนรู้สึกเหมือนโดนตบหน้า (ขอขอบคุณ gdh และ ap) ซึ่งงานก่อนหน้านี้เต๋อไม่เคยทำกับเราอย่างนี้—แต่หลังจากโดดเด่นจากการได้รางวัลงานโฆษณามาเมื่อปีก่อน ข้อนี้ก็อาจจะถือว่าเหยียบตีนตัวเองอย่างตั้งใจหรือเปล่าไม่รู้ หรือลองของ แต่ที่จริงเขาบอกก่อนอยู่แล้วว่าอยากลองทำหนังเร็วๆ นะ เขาก็ควรจะมีสิทธิ์ลองสิใช่ไหม? ก็ใช่ แต่สำหรับเรามันเหมือนเราโดนเหยียบหน้าในฐานะคนที่ตั้งใจว่าจะมาเสพย์ “ความหมายหนัง” ของเต๋อ มันเหมือนเที่ยวนี้เราถูกหลอกว่าถ้าทนดูอะไรของเราก็ได้ทุกอย่างอยู่แล้ว ก็ลองดูหนังเรื่องใหม่ในสไตล์โฆษณาความยาว 120 นาที แล้วลองตีความกันดูมั้ยล่ะครับ—นั่นแหละ ปัญหาหลักของหนังเรื่องนี้ที่เรารู้สึกคือสัญญาณความเป็นโฆษณามันดังชัดและรกเกินไป

โกรธนะครับ ขนาดว่าอินกับหนังเรื่องนี้จนไปซื้อหมวกมึงมาใส่อะคิดดู แต่ทำกับเราได้ขนาดนี้ ต้องบอกว่าผมไม่พอใจ

เหมือนมาดูเต๋อเดี่ยว

ที่เหลือ—ส่วนที่พอจะดูเป็นหนัง—สไตล์การตัดต่อกระชับเหมือนดูมังงะเป็นกรอบๆ มันก็พอไปกันได้กับงานเที่ยวนี้

ซึ่งถ้าคุณเตรียมใจเข้าไปเพื่อดูเนื้อเรื่องของนวพล เป็นคนอยู่ในจักรวาลนวพลอยู่แล้ว ก็จะต้องรู้สึกว่าโอเคกุจะยอมรับความหนังสือการ์ตูน ความไม่จริงอย่างการใส่หมวกนอน—มึงจะหัวล้านเอานะเกา เตือนแล้วนะ—ความคัตชน หรือแม้แต่การเอาสิ่งที่เคยได้ยินในโซเชียลมายั่วล้อ เอาเพลงประกอบคนอื่น (เดอะ ดาร์คไนท์นี่ใช้อย่างเปลือง) มาลองประกบภาพแบบที่เต๋ออยากลองอย่างนี้ให้ได้ดูได้ขำ (กับความไปไม่ถึงแต่เพลงมันถึง) ดูสักทีนึง
สรุปได้ว่าเหมือนไปดูเดี่ยวไมโครโฟน แต่เป็นนวพลเล่าประกอบภาพ มันเป็นบันทึกความทรงจำในช่วงห้าหกปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับหนังที่ไปดูหรือแก๊กเด่นๆ ที่เข้าหูมา รวมๆ กับเรื่องราวของคนอายุ 30+ ว่ารู้สึกอะไรบ้างในช่วงชีวิตนี้ ถ้าเป็นมุมนี้เราก็จะหัวเราะไปทีละแก๊ก แล้วก็ไม่ได้หัวเราะกับบางแก๊กไปได้เรื่อยๆ ก็ถือว่า… เออ กลับเข้าประเด็นเดิม มันก็เหมือนดูโฆษณาหลายๆ ตัวติดกันจริงๆ นั่นแหละ

เล่าเรื่องแบบอะเดย์อิสซึ่ม

กิมมิคที่ซ่อนไว้ ก็ดีตามมาตรฐานนวพล คือขมวดให้คิดมาได้เหมือนกลุ่มคนเขียนเนื้อหา wittyๆ ในอะเดย์ทั่วๆ ไป คือรวบตึงเพื่อให้สรุปไปถึงประโยคที่อยากสื่อสารเป็น “ในสไตล์เดียวกันไปหมด” จะเรียกว่าเสน่ห์ของสำนักพิมพ์นี้มันก็ได้นะ แต่อย่าลืมว่าอะไรที่มัน special หลายๆ อย่างถ้ามากองรวมกัน มันก็จะกลายเป็น special as usual ได้เหมือนกัน คือจากโดดเด่นรวมกันเป็นดาษดา สะดุดตากลายเป็นกลืนกันไปเอง ถ้าคุณอินกับอะเดย์ และคิดถึงสำนักพิมพ์นั้นที่ปิดไป นี่คือเนื้อหาที่คลายคิดถึงให้คุณได้ มันลักษณะเดียวกัน

อุรัสยา สเปอร์บันด์

สิ่งดีสิ่งเดียวในเรื่องคือญาญ่า (Urassaya Sperbund) ที่เป็นเดอะแบกความไม่จริงของตัวละครทุกตัวตั้งแต่เกาจนถึงไผ่หลิวเอาไว้ทั้งหมดคนเดียวแล้วทำให้เส้นเรื่องมันเดินไปข้างหน้าต่อไปได้โดยมีเจเป็นเส้นเรื่องจริง ส่วนมัลติเวิร์สที่เหลือคือเรียงเอาได้เลย เป็นฟรีฟอร์มจิ๊กซอว์ที่คนดูจะช่วยเรียงเส้นเรื่องให้เป็นความจริงได้เอง ชีวิตแบบคุณชายกับมุก parasite ของเกามันต้องรวยขนาดไหนมันถึงจะ cupstack อยู่บ้านได้ทุกวันโดยไม่แม้แต่จะลงมาทอดไข่เอง เติมน้ำเอง หรือจริงๆ ไม่ต้องชนะรางวัลนี้เกาก็อยู่ได้สบายๆ อยู่แล้ว—มันต้องเลือกแปลเนื้อหาตรงนี้ว่า A. cupstackers แชมป์โลกนี่คือรวยจัดๆ จนไม่ต้องทำมาหากินอะไรอื่นๆ อีกต่อไปแล้ว หรือ B. บ้านเการวย หรือ C. มันเป็นการ์ตูนน่ะครับ ซึ่งแล้วแต่นะก็เลือกตีความกันได้—แต่พอตรงนี้ไม่จริงแล้ว ถ้าเป็นหนังอื่นๆ ผู้กำกับเขาคงรู้ตัวแล้วว่าตรงนี้มันยังกลวงอยู่ต้องเติม แต่ไม่รู้สิ เรา bias นะ พอความดังในงานก่อนหน้านั้นมันช่วย หรือความละเอียดมันน้อยลง รวมกับที่ความเบียวอยู่แล้วของเนื้อหาทั้งเรื่อง เออ มันคงพอจะทำให้กระโดดข้ามความโหว่แหว่งตรงนั้นไปได้เองละมั้ง ซึ่งผู้ชมก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเติมเติมส่วนนี้ให้ด้วยคำว่า “ไม่เป็นไร” จนเราไปด้วยกันได้จบสองชั่วโมง

จริงๆ แล้วเจเป็นพล็อตหลักของเรื่อง จากที่เราตามดูมา หนังของนวพลจะมีตัวเอก (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์กลางของเรื่องก็ได้สำหรับคราวนี้) ที่เป็นสิ่งเดียวที่แปลกปลอมอยู่ท่ามกลางสิ่งอื่นๆ ที่คิดเหมือนกัน—ในขณะที่เราเห็นแมรี่ไม่เบียวในโรงเรียนที่เบียว เห็นยุ่นซึ่งไม่เบียว แต่พยายามเบียวในโลกที่เบียว เห็นหลายๆ คนใน BNK ที่ไม่เบียวท่ามกลางรูปแบบธุรกิจที่มันเบียว เห็นจีนที่เบียวในโลกที่ไม่เบียว… เจเป็นสิ่งเดียวที่ไม่เบียวในเรื่องนี้ และขบถอย่างหนักแต่ไม่ใช่เพื่อขัดแย้ง (เช่นเดียวกับตัวละครอื่นๆ) แต่เพื่อจะหา harmony ซึ่งบางครั้งก็หมายถึงการเดินออกมา (เช่นเดียวกับแมรี่และยุ่น และจีน) เราจึงมีความรู้สึกร่วมกับเจ (ตัวละครของญาญ่าในเรื่อง) อย่างรุนแรง ที่ตลอดเรื่องต้องแบกรับความฝันความเบียวของเกาเอาไว้บนบ่า แต่ก็เอาใจช่วยมึงนะ ให้มึงไปถึงความฝันให้ได้ นึกย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง มันก็คงเหมือนที่เราเองก็เอาตังค์เราอันน้อยนิดมาช่วยแบกนวพลไว้ด้วย เพราะเชื่อว่าถึงวันนึงแกคงไปถึงแชมป์โลกได้เหมือนกัน เพราะมีคนอีกตั้งเยอะที่รอดูนายประสบความสำเร็จ

แต่ถ้าก่อนจะถึงวันนั้นเราตัดสินใจจะแยกกับนายแล้วขายบ้านทิ้ง แล้วถอยดูความสำเร็จของแกอยู่ไกลๆ เหตุผลของเราอาจมีไม่มากเท่าที่เจรักเกาแหละมั้ง

จากคนที่ตามดูหนังมาตลอดคนหนึ่ง

Leave a comment

Leave a Reply

%d bloggers like this: