เห็นข่าวนี้ในทวิตเตอร์ แล้วคิดไปคิดมาได้ประเด็นที่น่าสนใจเลยอยากมาเล่าสู่กันฟัง
เป็นข่าวครูที่อินเดียนาในอเมริกาใช้ปืนยิงบอลของเล่น (แต่ยิงโดนก็เจ็บนะ) ในการฝึกซ้อมรับมือภัยแบบมือปืนบุกยิง เพื่อให้เด็กๆ รู้ถึงวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อภัยใกล้มาถึงตัว ปัญหาที่เกิดในข่าวคือ มีเด็กบางคนที่ก็อาจจะหลบไม่ดี ไม่ตามที่ได้นัดแนะกันไว้ ก็เลยถูกครูที่ต้องรับบทมือปืนยิงด้วยปืนของเล่น แต่จะด้วยระยะใกล้ไกลของการยิงหรือความแรงของปืนก็แล้วแต่ เด็กบางคนบอกว่าโดนยิงเจ็บ เจ็บมากและเด็กบางคนถึงกับมีแผลห้อเลือด เกิดเป็นกรณีถกเถียงกันอยู่ในตอนนี้ว่าจริงๆ แล้วควรจะเตรียมรับมือปัญหามือปืนบุกยิงด้วยการสอนเด็กด้วยวิธีนี้จริงๆ หรือไม่
แต่หัวข้อที่อยากชวนคุยวันนี้เกิดตอนเราคิดว่า ถ้าตัดเอาเฉพาะส่วนของการซ้อมมาคุยกัน การซ้อมอะไรแบบนี้ มันมีเหตุผลหรือไม่ที่เราต้องสอนเด็ก แล้วเหตุผลที่เราต้องสอนเด็กเรื่องนี้ จริงๆ แล้วมันคือเรื่องอะไรกันแน่
ทำไมเรื่องพวกนี้ถึงต้องซ้อม?
อันที่จริงเวลาเราขึ้นเครื่องบิน การสาธิตวิธีใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยนั่นก็ไม่ต่างกัน นั่นคือการซ้อมประเภทเตรียมความพร้อมในลักษณะเดียวกันกับเรื่องนี้
ใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยคือไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ไฟไหม้ แผ่นดินไหว หรือสึนามิ ถ้าไม่มีการนัดซ้อม เราแทบจะหาโอกาสฝึกให้ตัวเองมีสติตั้งรับอะไรแบบนี้ไม่ได้เลย หรือถ้าเราจะออกคู่มือมาให้ แล้วให้ซ้อมเอาเองโดยการนึกภาพตาม สุดท้ายก็คงคุณภาพดีไม่เท่าการได้ทดลองในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง นั่นคือการนัดซ้อม ซึ่งเราก็จะพบเห็นว่าในญี่ปุ่น หรือในประเทศที่ประสบภัญหาภัยพิบัติบ่อยๆ นั้นนิยมมีการฝึกซ้อมในลักษณะนี้อยู่จริงๆ เพราะถ้าเราไม่รู้มาก่อน เราแทบจะหาวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์แบบนั้นได้ไม่ทันการเลย
ทักษะที่จำเป็นสำหรับชีวิต
พอถอยออกมาในภาพรวมแล้วเริ่มรู้สึกว่า มันมีความสามารถรวมๆ อยู่กลุ่มหนึ่งที่เราจะเรียกว่าเป็นทักษะการใช้ชีวิตก็ได้นะ แล้วสำหรับเด็กมันก็ดูเหมาะเจาะมาก คำจำกัดความก็คือ มันเป็นความสามารถที่จำเป็นสำหรับการดูแลตัวเอง กับ ความสามารถในการจัดการสิ่งต่างๆ ที่เขาเป็นเจ้าของ
ความสามารถในการดูแลตัวเอง
นิยามอีกอย่างให้เข้าใจอาจจะเรียกว่าเป็นการรู้จักตัวเองและใช้ร่างกายของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมื่อเจ็บแสดงความรู้สึกว่าเจ็บ เมื่อเวียนหัวให้นั่งก่อน การรู้จักว่าร่างกายของเราประกอบด้วยกล้ามเนื้อหรืออะไรบ้าง เพื่อจะได้ใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนเป็น และสามารถบอกได้ว่าปวดหัว ปวดเข่า หรือเจ็บแบบจี๊ดๆ ในหู บรรยายความรู้สึกตัวเองได้อย่างถูกต้องนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่แค่ร้องไห้อย่างเดียว
ในมิติเดียวกันก็น่าจะสามารถเข้าใจความรู้สึกตัวเองและบรรยายได้พอเข้าใจ อย่างกำลังเศร้าอยู่หรือเปล่า กำลังเสียใจหรือดีใจอยู่ หรือกำลังโกรธ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จำเป็นสำหรับการเข้าใจทั้งตัวเอง และอาจช่วยทำให้ประมาณความรู้สึกของคนอื่นด้วยสายตาได้อีกด้วย เป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจผู้อื่นด้วยต่อไป
ความสามารถในการจัดการ
ซับซ้อนขึ้นมาอีกหน่อยก็จะเป็นความสามารถในการจัดการเรื่องง่ายๆ ที่เกี่ยวกับตัวเองได้และเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำ ก็น่าจะมีอยู่สองมุมคือ ปฏิบัติการเองได้ เช่น อาบน้ำเองเป็น กับแบบที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อยก็คือ บริหารเองได้ หมายถึงการใช้ระบบที่ออกแบบมาง่ายๆ เป็นตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น การใช้ห้องครัวและห้องอาหารเป็น ตั้งแต่คิดเมนู หยิบเครื่องปรุงจากตู้เย็นมาเริ่มทำอาหาร จนกระทั่งเก็บจานจากโต๊ะไปล้างแล้วเก็บเข้าครัวที่เดิมเป็นทั้งระบบ และจัดการให้ระบบยังคงอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ เช่น เมื่อเห็นสบู่ในห้องน้ำหมด สามารถไปซื้อมาเติมได้ เป็นต้น
การสอนความสามารถในการใช้ระบบ และสามารถเซ็ตระบบให้กลับมาใช้อีกได้เรื่อยๆ หรือที่เราเรียกกันรวมๆ เข้าใจยากขึ้น ว่าความมีระเบียบ นี่ ผมคิดว่าแทบจะเป็นต้นทางของการสอน patterns & system ที่จำเป็นต่อการเรียนในอนาคตได้อีกมากมาย เช่น การเชื่อมโยงของหมด หรือของหาย เข้ากับเรื่องเศษส่วน ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงเนื้อหาเข้ากับภาพที่เคยเห็นเกิดในลำดับต่อไปได้ ซึ่งมันดีมากๆ
ทักษะด้านการใช้ตรรกะแบบซับซ้อน
หันกลับมามองความเป็นจริงในโรงเรียน จะพบว่าเราไม่ค่อยเจอเนื้อหาแบบนี้ในหลักสูตรปรกติ แต่พอพบได้บ้างในโรงเรียนทางเลือก ส่วนในโรงเรียนนั้นเนื้อหาเป็นอีกประเภทหนึ่งเลย มันมีอะไรกันบ้างนะ เลข ภาษา สังคม ศาสนา จริยธรรม พลศึกษา
ไม่น่าแปลก ที่เราจะมีเด็กที่ทำวิชาเหล่านี้ได้พอๆ กับเด็กที่ทำไม่ได้ เพราะวิชาเหล่านี้เป็นตรรกะที่ซับซ้อนขึ้นกว่าชั้นแรก วิชาทั้งหมดที่พูดถึงไป ไปไกลกว่าการเป็นทักษะพื้นฐานแล้วทั้งสิ้น บางตัวมีความเป็นนามธรรมสูงขึ้นจากระดับพื้นฐานเยอะมาก เช่น สังคม ศาสนา และจริยธรรม ส่วนพลศึกษานั้นก็ไม่ต่างกัน การสอนตีปิงปองและเล่นบาสเลย เป็นการสอนใช้กล้ามเนื้อโดยไม่มีการพูดถึงทักษะการใช้สิ่งเหล่านี้โดยพื้นฐานก่อนเลย
ถ้าสมมติฐานนี้ถูกเราก็จะไม่ต้องแปลกใจที่ในคาบเรียนพละ เราจะพบว่าจะต้องมีจำนวนเด็กๆ ที่ได้รับบาดเจ็บทางกล้ามเนื้อทั้งจากการเรียนในคาบและการฝึกซ้อมเยอะเกินไปแน่ๆ เพราะเด็กๆ ใช้กล้ามเนื้ออย่างไม่เข้าใจ ใช้ไม่เป็น และขาดการใส่ใจในการใช้และทะนุถนอมกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี และอีกสมมติฐานที่เป็นไปได้คือ เราอาจไม่ต้องแปลกใจที่ในห้องจะมีแค่เด็กกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่เล่นกีฬานั้นได้ดี และรู้สึกว่าตัวเองมีประสิทธิภาพในการเล่นเพราะใช้ร่างกายของตัวเองได้อย่างถูกต้อง และเด็กอีกกลุ่มจะรู้สึกว่าตัวเองเล่นกีฬานั้นไม่ได้เพราะไม่มีความสามารถ
เราว่าโรงเรียนเมืองไทยมีปัญหากับการพยายามให้เด็กมีความเป็นเลิศทางวิชาการด้วยการเปรียบเทียบว่าคนไหนเก่งในวิชาที่มีตรรกะซับซ้อนแล้วเท่านั้น ตรงกันข้าม เมื่อเด็กคนหนึ่งเกิดมาและยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองเลย เขาจะไปถึงความเป็นเลิศนั้นได้อย่างยากเย็นถ้าต้องเรียนรู้เองทั้งหมด และดูเหมือนโรงเรียนเองก็ไม่ได้เข้าใจปัญหาเหล่านี้เลย
เราจึงอาจไม่ต้องสงสัยต่อว่าทำไมเด็กๆ ถึงไม่เข้าใจและกลัวความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเอง หรือยอมปล่อยให้คนหยิบยืมร่างกายตัวเองไปใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่น ปล่อยให้เกิดการล่วงละเมิดได้ — มันเป็นเรื่องปรกติมากที่เมื่อเราไม่เข้าใจเกี่ยวกับอะไรสักอย่าง นอกจากเราจะใช้มันเป็นเครื่องมือของเราไม่ได้แล้ว เราจะยังมีปัญหากับการดูแลรักษาสิ่งเหล่านั้นด้วย
เด็กๆ ควรมีความสามารถในการเข้าใจศักยภาพของตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ อธิบายมันได้ไม่ว่าจะลงลึกหรือเพียงผิวเผินก็ยังดี และเขาควรได้รับอนุญาตให้ดูแลระบบบางอย่างตั้งแต่ต้นจนจบได้เอง ให้เขารู้ว่าเขามีความสามารถในการทำอะไรบ้าง แล้วหลังจากนั้น ผมว่าค่อยถึงเวลาที่เราจะสอนเขาให้ประยุกต์ใช้ความสามารถของเขากับตรรกะที่ซับซ้อนมากขึ้นทางวิชาการต่อไป
และเด็กๆ ทุกคนควรได้รับสิทธิในการได้เรียนสิ่งที่เหมาะกับช่วงวัยก่อน ไม่ใช่ถูกบังคับให้เรียนลัดในสิ่งที่โรงเรียนเห็นเป็นประโยชน์ของตัวเองอย่างเดียว
ผมกำลังพูดถึงทักษะแปลกๆ ที่เรากำลังต้องสอนเพิ่ม อย่างการป้องกันตัวจากปัญหาที่มากระทบเขาโดยตรง เช่น ปัญหาอาชญากรรมที่กระทำต่อเด็กที่เราเห็นทุกวันนี้ ผมว่าน่าสนใจที่เราต้องคิดวิธีสอนเพิ่มเข้ามามากขึ้น—แต่ใช่ เราอาจจะต้องไปเลือกว่าปืนที่จะใช้ยังควรจะเป็นปืนลูกบอลหรือไม่
และเกี่ยวกับทักษะต่างๆ ที่ผมเรียบเรียงออกมาข้างบนนั้น ผมเองก็ไม่มีหลักการทางวิชาการมากพอจะบอกได้ว่าเรามีหรือไม่มีอะไรบ้างในสังคมไทยตอนนี้ ผมสรุปภาพเหล่านี้ออกมาจากการได้เห็นเด็กๆ รอบตัวกำลังเติบโตและพัฒนาขึ้น บางคนกำลังไปได้ดี บางคนเลยเวลาพัฒนาเรื่องพื้นฐานมาแล้ว (กำลังเรียนมหาวิทยาลัย) และกำลังประสบปัญหาในชีวิต บางคนเป็นเด็กน้อยอยู่ที่ต้องมารอดูกันต่อไปว่า ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน กำลังจะใส่ทักษะอะไรเข้าไปในชีวิตเด็กๆ เหล่านี้บ้าง
อีกมุมผมก็กำลังเห็นบุคลากรในโรงเรียนกำลังทำอะไรกับนักเรียนอยู่ ทั้งทางกายและจิตใจ บางคนอุ้มชู บางคนติเตียน ฯลฯ ไม่ว่าคนที่ทำอย่างนั้นจะตั้งตัวเองอยู่บนฐานคิดแบบใดก็แล้วแต่เราลืมความจริงข้อหนึ่งไปไม่ได้ ว่าเด็กก็เป็นคนเหมือนเรา เพราะฉะนั้นปลายทางของชีวิตที่ดีคือการที่เขาเป็นคนที่เป็นคนสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ
และครู คือใครสักคนที่อาจจะแก่กว่า รู้ดีกว่า เขาควรเป็นเพื่อนระหว่างทางที่ช่วยแนะนำความเป็นคนที่สมบูรณ์ในเป็นแบบเขาต้องเป็นให้เขาได้ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ได้ใช้ด้วยกัน
เราจึงควรจะวัดความเป็นครูที่ดีของเราด้วยเกรดวันนี้ของเขาที่ดี? อาจจะถูกแค่ส่วนหนึ่ง
แต่ที่ดีและน่าภูมิใจกว่านั้นอาจเป็นเมื่อเด็กคนนั้นเป็นคนที่สมบูรณ์มากขึ้นในแบบของเขา ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบที่เราคิดหรือเป็นแบบที่ถอดแบบจากในตำรา
เพราะเราต่างก็รู้ดี ว่าตำราก็ถูกแค่บางอย่าง และความเป็นคนโดยสมบูรณ์ที่เราเห็นในชีวิตจริงก็มีหลากหลาย และมันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน