ก่อนอื่นเลยนะ… มันเหมือนงานที่เราทำอยู่เลย ทำความเข้าใจกับคนเยอะๆ เพื่อเรียนรู้ว่าอะไรคือความรู้สึกที่แท้จริงของเขา

นี่หนังหรืองานวิจัยหา insights?

ตอนไปดูหนังเรื่องนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเราไปนั่งดูสรุปงาน User Insights Report ของบริษัทวิจัยผู้บริโภคนวพลอยู่เลย เพราะอาชีพเราก็มีงานหลักๆ เป็นการพยายามปะติดปะต่อประเด็นที่มีความหมายสำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่มีประสบการณ์เดียวกันผ่านบทสัมภาษณ์ขนาดยาวเป็นชั่วโมงของหลายๆ คนอยู่เหมือนกัน (และเราไม่นิยมการทำโฟกัสกรุ๊ปด้วยเหมือนกัน)

แล้วพอไปดูวิธีทำงานก็ยิ่งชอบใจ เพราะสิ่งที่นวพลทำมีการลงไปคลุกคลี ทำความเข้าใจ แล้วเวลาชวนคุยก็คุยอย่างเป็นธรรมชาติจนทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์เองก็สบายใจที่จะเล่า เนื้อหาที่ได้ออกมาสวยงามนั้นจึงเกิดได้เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจที่กลายเป็นความจริงที่แต่ละคนรู้สึกมาจากข้างใน

และในฐานะคนที่ต้องทำเรื่องพวกนี้เป็นอาชีพ—แต่อาจจะไม่ได้เอาวิดีโอที่สัมภาษณ์มาตัดต่อแล้วใส่เพลงประกอบเหมือนอย่างที่นวพลทำนะ ที่เราทำก็แค่สรุปเป็นรายงานเป็นเล่มนึงที่ความยาวไม่กี่หน้า—เราจึงมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับรายงานชุดนี้สูงมาก เพราะรายงานที่นวพลทำนั้นสรุปความจริงที่สำคัญมากเกี่ยวกับความรู้สึกของทั้ง 26 คนใน BNK48 รุ่นหนึ่ง ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ไว้ได้ค่อนข้างครบในภาพเดียว และมีความจริงระดับลึก (insights) อยู่ในนั้นหลายข้อที่น่าสนใจมาก

การที่อยู่ๆ จะมีลูกค้าสักบริษัทนึงมาจ้างให้ทำรายงานความรู้สึกที่ละเอียดขนาดนี้โดยมากก็มีเหตุผลหลักคือเขาอยากจะเข้าใจคนกลุ่มนี้จริงๆ ว่าอะไรคือความเจ็บปวด และอะไรคือความต้องการของคนเหล่านั้น—เพื่อเขาจะเข้าถึงใจและตอบรับความต้องการของคนกลุ่มนั้นได้อย่างถูกต้อง—แล้วพอรายงานมันออกมาดี เราจึงเสียดายถ้าใครบางคนจะปล่อยมันผ่านไปเพียงเพราะคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวกับเกิร์ลกรุ๊ปกลุ่มหนึ่ง แค่นั้น

เพราะเนื้อแท้จริง มันเป็นเรื่องของการดิ้นรนอย่างรุนแรงและเหน็ดเหนื่อยของวัยรุ่นทุกคนที่ใช้ชีวิตกันอยู่ทุกวันนี้ที่แทบจะไม่ต่างกันเลย

ความดี ความไว และความแม่นขึ้นของผู้กำกับ

ยังมีความดีงามอีกหลายอย่างอยู่ในสารคดีชิ้นนี้ ในฐานะคนที่ติดตามงานของนวพล อย่างต่อเนื่องเหลือเกิน (มีบทความอย่างน้อย 2 บทความว่าด้วยหนังของนวพลอยู่ในเว็บนี้ด้วย) นี่เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่านวพลจังหวะแม่นขึ้นมากในการทอดซีน การทอดทิ้ง (คือจังหวะปล่อยภาพดำ นำเข้าสู่เรื่องใหม่) ไปจนถึงจังหวะยิงเสียง ยิงเพลง ซึ่งเรื่องนี้นวพลเข้าขากันดีมากกับ Plastic Plastic ทำให้ดนตรีประกอบเรื่องนี้ช่วยผลักความรู้สึกคนดูให้สูงขึ้นไปได้อีก ส่วนการเล่าเรื่องของนวพลก็ทำหน้าที่ผลักเส้นเรื่องไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องไม่มีจังหวะเนือยให้เห็น ทั้งที่ในงานล่าสุดอย่าง Die Tomorrow เองนั้นยังดูมีช่องโหว่เรื่องการทอดซีนอย่างว่างเปล่ายาวนานให้เห็นหลายๆ ครั้ง แต่งานตัวนี้กลับมีจุดสะดุดน้อยลงอย่างน่าสนใจ—อยู่ๆ ทุกอย่างก็ดูลงตัวแบบน่าพึงพอใจ

และมีอีกสิ่งที่นวพลพูดถึงบ่อยๆ ว่าในการทำหนังเรื่องนี้เขาพยายามปล่อยให้เรื่องเป็นคนเลือกเส้นทางของบทสัมภาษณ์ที่เขาจะเอามาขึ้นจอ ดังนั้นการเกลี่ยให้ทุกคนได้พูดเท่ากันจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักที่นวพลพยายามทำ แต่เขาพยายามจะเราได้เห็นเส้นเรื่องที่เป็นจริงสำหรับทั้ง 26 คนที่เล่าประกอบกันเป็นเรื่องเดียว

สำหรับผม นวพลพาผมไปถึงข้อความที่สำคัญ 2 ข้อในการมีชีวิตเป็นเม็มเบอร์อยู่ใน BNK48

1. เป็นเม็มเบอร์ก็คือไปทำงานนั่นแหละ

เพราะอันที่จริงเม็มเบอร์ก็เป็นแค่อาชีพๆ หนึ่ง ที่มีเงินเดือน มีสัญญา มีเทรนนิ่ง มีทดลองงาน มีการเก็บประสบการณ์ มีตัวจริงตัวสำรอง มีวัดผล มีสอบได้สอบตก มีทดลองงาน มีลาออก มันเป็นวัฏจักรในบริษัททั่วๆ ไปที่สุดแสนจะธรรมดา

ที่จริงบริษัทไหนก็มีนะ คนที่พยายามและยังไม่ท้อทั้งที่ยังไม่เคยมีโอกาสมาถึง และคนที่โอกาสมาถึงแบบตั้งตัวไม่ทันแต่ชั่วโมงนั้นกลับไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากถึงยากแค่ไหนก็ต้องทำ เพราะจะให้ทำกับโอกาสนั้นเหมือนได้มาเปล่าแบบไม่รู้ค่าของมันก็คงไม่ได้

ซึ่งถ้าเราเปลี่ยนตัวละครในสารคดีชิ้นนี้เป็นการเล่าวัฏจักรเดียวกันในระบบอื่นๆ เช่น ทีมฟุตบอล คนที่ชื่นชอบกีฬาก็อาจจะพอเข้าใจได้ว่า แน่นอน เบื้องหน้าที่มีประสิทธิภาพนั้นเกิดขึ้นจากเบื้องหลังที่ซับซ้อนจากทีมงานอีกจำนวนมาก แต่กับ BNK48 เรากลับไม่เคยเห็นหลังฉากจริงๆ มาก่อน เพราะวงนี้คือรูปแบบธุรกิจที่ใหม่มากในเมืองไทย และในสื่อเราเห็นแต่รอยยิ้มและการแสดงที่สวยงามของทั้ง 26 คน

กว่าจะออกมาเป็นตู้ปลา เธียเตอร์ งานจับมือ ไปจนถึงไลฟ์ใน Voov และโฆษณารถยนต์—หนังเรื่องนี้กำลังพยายามเล่าสิ่งเหล่านี้อย่างซื่อสัตย์ให้เราฟังว่า “เด็กใหม่ 26 คน” ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานจริงๆ ในวงการบันเทิงนั้นผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่งถ้าจะว่ากันตามจริง ทุกคนทำงานหนักไม่แตกต่างจากบอยแบนด์เกิร์ลกรุ๊ปที่อื่นเลย

2. เม็มเบอร์ก็คือเด็กผู้หญิง คือคนธรรมดา เขาก็มีหัวใจเหมือนกับเรานั่นแหละ

ระหว่างที่ดูหนังไป เราเห็นความอดทนกับปัญหาต่างๆ ที่คุกรุ่นอยู่ในสถานการณ์แล้วก็อดไม่ได้ที่ต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเราเองอย่างจริงจังว่า ในขณะที่เราชื่นชมเม็มเบอร์ผ่านการอุดหนุนสินค้าไปจนถึงการไปเจอตัวจริงที่งานจับมือ หรือทวีตอะไรบางอย่างไม่ว่าจะดีเกี่ยวกับน้อง หรือจะตามดู Voov เพื่อหวังจะเห็นน้องพูดคุยหรือทำอะไรน่ารักๆ ให้เราดู… สิ่งที่คนดูทำกับเม็มเบอร์ทุกวันนี้เกิดมาจากเรามองเห็นทั้งวงเป็นแค่สินค้าหรือเปล่า? ทั้งที่ 26 รอยยิ้มนั้นก็เป็นคนที่มีชีวิตจริงๆ เหมือนกับเรา แถมบางคนก็ยังอายุน้อย ประสบการณ์น้อยกว่าเรา เขาจะแข็งแรงพอจะรับแรงกดดันขนาดนี้แล้วหรือ?

และเรายังย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงการคุกคามผ่านการก้าวล่วงเรื่องส่วนตัวไม่ว่าจะโดยจงใจหรือบังเอิญด้วยว่าเราจำเป็นต้องทำกันหรือไม่ เมื่อเราได้เรียนรู้ว่านอกจากความเจ็บปวดในการทำงานแต่ละขั้นตอนในวงแล้วการต้องมารับแรงจากความคาดหวังภายนอกจากฝั่งแฟนอย่างนี้อีกจะเป็นเรื่องหนักหนาขนาดไหนกันนะสำหรับเด็กวัยรุ่นธรรมดาๆ คนหนึ่ง

แล้วการที่ต้องมาเรียนรู้ตั้งแต่ตอนนี้เลยว่าความนิยมมันเป็นสิ่งที่สร้างเอาได้ถ้าคุณทุ่มเท อาจต้องยอมรับที่จะไม่เป็นตัวของตัวเอง และแม้จะทุ่มเทขนาดนั้นสุดท้ายมันก็ไม่ได้จีรังยั่งยืน มันเป็นบทเรียนที่โอตะหรือแฟนเพลงควรสอนไอดอลที่เขารักอย่างนั้นจริงๆ หรือ?

มันเป็นธรรมดาโลก? เรากำลังทำให้คนที่เราบอกว่ารักเขาต้องแบกรับความเจ็บปวดพวกนี้เองเลยหรือเปล่า?

หรือมันจะดีกว่าถ้าเราพูดได้ว่าเราชื่นชมทุกคนที่เป็น BNK48 ในฐานะกลุ่มเด็กสาวที่มีพลังมุ่งมั่นและความสุขที่ได้ทำตามความฝัน? หรือให้กำลังใจเขาผ่านสิ่งดีๆ ที่เราทำให้ได้ในทุกวันไม่ใช่แค่วันที่ต่อแถวเพื่อพบหน้ากัน

เราไม่ได้หวังมากนักว่าคนทั่วไปหลังดูจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าได้รู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับวงๆ นี้มากขึ้น แต่เราคาดหวังไว้มากๆ ว่าแฟนเพลงที่คงจะมาดูแน่นอนจะลองใคร่ครวญดูหลังจากได้เห็นความรู้สึกที่อบอวลอยู่ในหนัง แล้วก็อาจจะลองปรับสมดุลในแต่ละอย่างที่เราทำออกไปว่ามีอะไรบ้างที่เราจะทำให้คนในวงมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิมได้อีกหน่อยนึงก็ยังดี

แค่อยากทำโอกาสในวันนี้ให้ดีที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นแค่คนที่สนใจหนังคนหนึ่งซึ่งอาจไม่รู้จัก BNK48 เลยก็ตาม หรือคุณอาจเป็นคนหนึ่งที่คุ้นเคยถึงขนาดเคยไปบ่นในเว็บออฟฟิเชียลของ BNK48 มาแล้วเพราะไปงานจับมือแล้วพบปัญหามากมาย ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณสามารถจะเข้าใจเด็กๆ ทั้ง 26 คนนี้ได้จากสารคดีเรื่องนี้ว่าเขาพยายามมากขนาดไหนที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จ มันไม่ใช่การทำงานหนักแค่ในวันที่แสดง

และถ้าเป็นไปได้ เราในฐานะคนที่มองเข้าไปในวง—ไม่ว่าจะคลั่งไคล้หรือแค่สนใจวงนี้ก็ตาม—มีทางไหมที่เราจะปรับสมดุลระหว่างความต้องการของเรา กับสิ่งที่น้องเป็นได้? เราทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้ทุกอย่างกลับมาพอดี และไม่เอาความคาดหวังไปทำร้ายใครมากเกินไป?

เผื่อวันหนึ่งเม็มเบอร์ทุกคนไม่ว่าจะเซ็มบัตสึหรืออันเดอร์จะรู้สึกได้เหมือนกันว่าเรามีความสุขกับการเห็นทุกคนมีความสุข และไม่ได้ขอให้เขาทำให้เรามีความสุขแค่ฝ่ายเดียว เพราะเราอยากให้เขารู้สึกด้วยว่าเราแคร์ และเห็นเขาเป็นเหมือนเพื่อน เหมือนวัยรุ่นคนหนึ่งที่ควรจะมีโอกาส ชีวิต และความสุขเหมือนๆ กับเรา

บางที ถ้าเราไปถึงจุดที่รู้สึกได้ว่านั่นคือน้อง นั่นคือพี่สาวเรา บางทีนะ บางทีเราอาจจะแคร์เขามากขึ้นอีกนิดก็ได้


เราพอใจที่ BNK48 Girls Don’t Cry ออกมาเป็นมากกว่าหนังสำหรับเรา มันเป็น Insights Report ที่ถูกเรียบเรียงอย่างซื่อสัตย์จากมือนวพล ที่เราเชื่อว่าสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาน่าจะตรงกับสิ่งที่เม็มเบอร์ทุกคนอยากบอกกับคนดู

เราจึงขอสรุปว่า เนื้อหาหลักๆ ของเรื่องนี้เป็นความพยายามต่อสู้และรักษาโอกาสในชีวิตที่ได้มาให้ดีที่สุดของเด็กวัยรุ่นในทศวรรษนี้ ซึ่งเรารู้สึกว่านี่น่าจะเป็นตัวแทนความพยายามแบบเดียวกันของวัยรุ่นไทยสมัยนี้อีกจำนวนมากรอบตัวเรา ที่บางทีเราเองก็ไม่ค่อยได้รับรู้หรือใส่ใจ

รูปถ่ายในโรงหนัง 13 ที่สยามพารากอน รอบ 1630 วันที่ 19 สิงหาคม 2018 ที่นวพลมา Q&A
รูปถ่ายในโรงหนัง 13 ที่สยามพารากอน รอบ 1630 วันที่ 19 สิงหาคม 2018 ที่นวพลมา Q&A

Leave a comment

Leave a Reply