เหตุผลที่คุณควรถูกสปอยล์ Mother! ก่อนไปดู เพราะไม่งั้นคุณอาจนึกไม่ออกว่าควรมองหาอะไรตอนดูเรื่องนี้
แต่เราสามารถเล่าสปอยล์หนังเรื่องนี้ให้ฟังได้แม้จะไม่แตะเนื้อหาจริงๆ ของเรื่องเลยแม้แต่นิดเดียว
แค่ผมรู้สึกว่ามันมีเส้นเรื่องคู่ขนานบางเรื่องที่คุณควรรู้ก่อนไปดู Mother! แล้วก็จะมีอะไรๆ ให้ถกอย่างสนุกสนานกับเพื่อนต่อไปได้แม้ประเด็นนั้นจะดูเป็นเรื่องที่น่าจะคุยกันยากก็ตาม แต่การได้ถกอย่างที่ใจคุณคิด ผมเชื่อว่านั่นเป็นสิ่งที่ผู้กำกับอยากให้คุณมีและได้ลองทำดู เพราะเขาเองก็ดูจะชอบถกแบบจริงจังแบบนั้นกับคนดูเหมือนกัน
รู้จักผู้กำกับสายดึงดาว(น์ ทู เอิร์ธ)
ดาร์เรน อารอนอฟสกี (Darren Aronofsky) เป็นคนหนึ่งที่คงเส้นคงวาในวิถีการเล่าเรื่องของเขาเสมอมา เขาชอบตีความตัวละครหลักของเรื่อง—ไม่ว่าจะวิเศษวิโสมาจากไหน—ให้กลายเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญที่ไร้สิ้นซึ่งความสามารถพิเศษใดๆ เพื่อจะได้ศึกษาว่าตัวละครเหล่านั้นจะข้ามผ่านความเหนื่อยยากหรือความ “พัง” ในชีวิตพวกเขาออกมาได้อย่างไร นับเนื่องมาตั้งแต่ Pi ในปี 1998 หลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็น Requiem for a Dream, The Fountain, Black Swan, Noah จนถึง Jackie หรือ The Wrestler ทุกตัวคือตัวละครชายหญิงธรรมดาที่ล้วนกำลังอยู่ในช่วงตกยากไม่ทางร่างกายก็จิตใจ แล้วแต่ละตัวก็ดิ้นรนหาทางออกในชีวิตด้วยวิธีคิดที่แตกต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะต่างกันอย่างไรก็ตาม เรามักพบว่าตัวละครเหล่านั้นเลือกทางออกที่มีความเหมาะสมที่ไม่ใช่กับเฉพาะสภาพร่างกาย แต่มักจะเป็นสภาพจิตใจในเวลานั้นด้วย
ผมรู้สึกว่าเหมือนเขา—ผู้กำกับ—มองว่ามันเป็นความแฟร์ จนหลายครั้งผมรู้สึกว่าหนังที่เขาทำทั้งหมดตีความรวมเป็นสิ่งที่เขาเชื่อว่าชีวิตหมายถึงการต่อสู้ ถ้าไม่สู้ก็ไม่ใช่ชีวิต ดังนั้น แค่ชีวิตของคนธรรมดาสู้ชีวิตสักคนมันก็น่าสนใจพอแล้ว
เราพบว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ต่างกันเมื่อเราได้นั่งดู Noah ในเวอร์ชั่นของอารอนอฟสกีที่เล่นเอาคริสเตียนรู้สึกผิดหวังไปตามๆ กัน ภาพความไม่เท่ของเรือ ตัวโนอาห์และครอบครัวของเขา กับความงงที่มีตัวละครแปลกๆ ที่ผู้กำกับใส่เข้ามา มันช่างไม่สามัคคีกับความรู้สึกของคนที่อ่านพระคัมภีร์มาเป็นหลายปีเลยแม้แต่น้อย มันดูเวอร์วังในส่วนที่ไม่ใช่ แล้วก็ดูไม่เทิดทูนโนอาห์เท่าที่เราที่เป็นคริสเตียนจะรู้สึกกัน—หนึ่งในนั้นก็คือผมด้วย—แต่เมื่อเราเข้าใจบริบทของผู้กำกับที่เขาก็เป็นคนแบบนี้ คือเขาเก่งในการตีความแบบนี้ จริงๆ เราจึงไม่ควรแปลกใจที่แม้แต่เรื่องราวที่เป็นตำนานก็ยังดูเหมือนถูกเอามาลดทอนค่า—บางคนใช้คำว่าปู้ยี่ปู้ยำ—เสียจนแทบจำไม่ได้ หรือทำใจให้ยอมรับไม่ได้
แต่ส่วนตัวผมวางเฉย และทำได้แค่ยอมรับในสิทธิ์ในการตีความของผู้ที่นำเสนอนะ มันก็เหมือนเวลาเรานั่งคุยกับเพื่อนแล้วเขาเล่าให้เราฟังว่าเขาอ่านเรื่องในพระคัมภีร์แล้วเขาเห็นภาพหรือตีความมันเป็นอย่างไร ผมว่ามันก็ยุติธรรมดีที่เราจะไม่หลงใหลไปกับการอุปโลกน์อะไรก็แล้วแต่ในโลกนี้ให้กลายเป็น “ตัวเอก” ที่เก่งกาจกันอยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นเพราะว่าในฐานะคน เรามักต้องเป็นฝ่ายตัดสินใจตามเมื่อโลกเคลื่อนไปมากกว่า และตัวละครที่ชอบเลือกจะหยุดอยู่กับที่เพื่อหวังให้โลกหมุนตามก็มักจะต้องเหนื่อยทุกครั้ง เพราะต้องต่อสู้มากกว่าคนธรรมดา
นั่นคืออีกประการที่ผมรู้สึก ตัวละครของดาร์เรน อารอนอฟสกีมักเดินทางจากการยึดมั่นถือมั่นไปสู่การปล่อยวางเหมือนๆ กัน
ต่อไปเป็นการสปอยล์อย่างจงใจ

สาวบริสุทธิ์ โลก พระเจ้า หมายความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเรื่องในพระคัมภีร์—นี่เป็นอีกครั้งที่อารอนอฟสกีพยายามสกัดตัวละครออกจากพระคัมภีร์ ถัดจากโนอาห์ที่เต็มไปด้วยอภินิหารที่ตีความให้เข้าใจได้ยาก และผมว่าในที่สุดมันก็เกินกำลังของผู้กำกับที่ต้องเล่นกับเรื่องย้อนยุคซึ่งเป็นแนวที่เขาไม่น่าจะถนัดเลย ถ้าเทียบกับเรื่องอื่นๆ ที่เขาทำตลอดมา
และผมเชื่อว่าไม่ใช่เพราะความสำเร็จ แต่เป็นเพราะเขาสนใจอยากลองอีกครั้ง และครั้งนี้เขาซ่อนตัวละครไว้ลึกกว่าเดิมด้วยปล่อยให้คนดูเข้าใจไปเรื่อยๆ ว่าเขากำลังดูหนังธรรมดาๆ เรื่องหนึ่ง ไปจนถึงจุดหนึ่งที่คุณเริ่มเอะใจกับอะไรประหลาดๆ อย่างความใจดีอย่างน่าหมั่นไส้ของพระเอก หรือความใสซื่อไร้เดียงสาของนางเอก หรือการที่ฉากของเรื่องมันค่อยๆ ใหญ่ขึ้นทั้งที่เรื่องทั้งหมดนี้เกิดในบ้านหลังเดียวตลอดเวลา
เที่ยวนี้มาตั้งแต่พระคัมภีร์เก่าจนถึงพระคัมภีร์ใหม่ ในเรื่องเราจะได้พบกับตัวละครอย่างอาดัมและเอวา ที่ถูกไล่ออกจากสวนเอเดนเพราะทำความผิดในเรื่องที่พระเจ้าห้ามไว้ เรื่องของคาอินและอาเบล—ลูกของอาดัมและเอวา—ที่พี่ฆ่าน้องด้วยความริษยา เรื่องน้ำท่วมโลกเมื่อมีคนอยู่ในโลกมากเกินไป เรื่องของนางมารีย์กับลูกที่พระเจ้าประทานให้โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ความตายของพระเยซู การบิดเบือนเนื้อหาที่พระเจ้าให้จนกลายไปเป็นศาสนาของผู้คน เราจะได้สัมผัสประสบการณ์ความอยากได้อยากมีของมนุษย์ที่กอบโกยเอาจากโลกนี้ พระคุณของพระเจ้าที่ไม่แม้แต่จะตอบแทนมนุษย์ให้สาสม ความลักลั่นมนุษย์ที่เลือกแก้ปัญหาแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน แล้วคิดว่าปัญหามันจะหาย และความวุ่นวายในโลกนี้ไปจนถึงเสียงกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดของนางมารีย์ทั้งตอนคลอดพระเยซู และตอนที่พระเยซูถูกทำให้ตาย (อันนี้จัดเป็นสปอยล์มั้ย) ว่านางมารีย์จะรู้สึกอย่างไร หรือเจ็บปวดในฐานะความเป็นแม่แค่ไหน หนังให้กล้องตามหลังนางเอกไปแทบจะตลอดเวลา จนเวลาเราเห็นเหตุการณ์ไปถึงจุดหนึ่งเราก็จะรู้สึกอึดอัดเท่าๆ กับนางเอกได้ไม่ยากเย็น
ทั้งหมดนั้นคือเรื่องที่คุณจะได้ดูในเวลาสองชั่วโมงกว่า ทั้งที่ความจริงมันเต็มไปด้วยเนื้อหาหนักหน่วงที่คงไม่น่าอภิรมย์ แต่ถ้าไปดูเพื่อชื่นชมความฉลาดล้ำในการเล่าเรื่องของอารอนอฟสกี หรือไปดูวิถีการกำกับทั้งคิวและภาพที่สานต่อทั้งเรื่องได้แบบแทบจะเป็นซีเควนซ์เดียวได้อย่างน่าฉงน คุณอาจจะชอบก็ได้
แม่ก็คือแม่
ชีวิตและมุมมองของตัวเอกผู้หญิงในเรื่องซึ่งถูกเรียกว่า mother! แม้แต่ในเอนด์เครดิต หรือแท้ที่จริงคือนางมารีย์เป็นสิ่งที่ดาร์เรนพยายามตีความ และคิดแทนอย่างไม่เข้าข้างตลอดเวลาที่นางมีประสบการณ์กับเหตุการณ์ทั้งหมดในเรื่องนี้
และผมเชื่อว่าการนั่งคุยกับเพื่อนเรื่องนางมารีย์ในฐานะผู้หญิงธรรมดาสักคนจะเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ เพราะผมเชื่อว่าถ้าเรารู้สึกว่านางมารีย์เป็นผู้หญิงธรรมดา เราคงเข้าใจความเจ็บปวดของเพื่อนเราสักคนได้ดีกว่าการเข้าใจสมมติเทพสักคนหนึ่งว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อลูกตาย มันค่อนข้างเป็นธรรมชาติและเป็นธรรมดา เหมือนที่นักแสดงแต่ละคนบ่นออกมาจากหนังเรื่องนี้กันว่าตัวเองก็ตามไม่ค่อยทันนักว่าตัวเองกำลังเป็นสัญลักษณ์แทนเรื่องอะไรกันแน่ เวลาแสดงจึงทำได้แค่ส่งความรู้สึกของตนเองออกไปในฐานะปุถุชนธรรมดา ผลที่ได้ก็เป็นอย่างในหนัง คือมันเป็นภาพความสุขและความเศร้าของคนจริงๆ ที่เรามองเห็นได้ทั่วไป
พอรู้อย่างนี้ ผมเชื่อว่าเราจะมองโปสเตอร์ของหนังเรื่องนี้—ไม่ว่าจะเวอร์ชั่นควักหัวใจ หน้าเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์กับรอยแตกแบบรูปปั้น หรือมุมมองเงยเหมือนภาพเขียนสีน้ำมันยุคเรอเนซองซ์—ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป




คำถามที่ห้ามถาม?
ผมไม่เชื่อในการห้ามถาม เพราะผมเชื่อว่าปัญหาของการห้ามถามในบ้านเราล้วนเกิดจากการที่คนที่ต้องตอบนั้นตอบไม่ได้ และบางทีคนที่สำคัญตัวว่าต้องตอบเอง ที่จริงก็ไม่ได้มีหน้าที่จะต้องตอบด้วยซ้ำ เพราะบางคำถามเราตอบ ณ วันนี้ยังไม่ได้ จะเนื่องด้วยสติปัญญาความรู้อันจำกัดของวิทยาศาสตร์หรือความรู้ความเข้าใจของเรา หรือเป็นเรื่องความลึกลับของจักรวาลก็ตามที
ตรงกันข้าม ผมเชื่อว่าคำถามที่ชาญฉลาด—ไม่ใช่แบบศรีธนญชัย แต่หมายถึงคำถามที่ถามมีประเด็นที่มีนำ้หนักจริงๆ—มีส่วนอย่างมากในการทำให้คนเราสนใจใคร่รู้ อยากค้นคว้ามากขึ้น เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกนี้มีวิทยาการเกิดขึ้นมากมายก็เพราะมีคนตั้งคำถามที่ดีกว่าเดิมได้ใหม่ทุกวัน
ดาร์เร็น อารอนอฟสกีเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ที่ซื่อสัตย์กับอาชีพของตนเองด้วยการใช้สื่อที่อยู่ในมืออย่างคุ้มค่า และเขาทำอีกอย่างคือเขาเลือกตั้งประเด็นคำถามของเขาในการทำหนังแต่ละครั้งอย่างชาญฉลาด ไม่ต้องแปลกใจถ้าคุณจะไม่เข้าใจคำถามของเขาเพราะบางเรื่องเราก็ไม่สนใจจริงๆ แต่ถ้าวันหนึ่งเราค้นคว้าไปถึงจุดเดียวกับเขา มันจะเป็นเรื่องตื่นเต้นมากที่คุณได้รับรู้ว่าคนๆ นี้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรนของคนธรรมดาได้อย่างน่าสนใจ และเที่ยวนี้เขาตั้งคำถามกับนางมารีย์ บุคคลที่อยู่ในพระคัมภีร์ว่าคนเหล่านั้นมีตัวตนจริงๆ หรือไม่—หรือถ้าจะให้ชัดกว่านั้น คนเหล่านั้นเป็นคนจริงๆ หรือไม่
ผมเชื่อว่านางมารีย์ในเรื่องได้พิสูจน์คุณค่าของความเชื่อของเธออยู่สองประการ ข้อแรกคือเธอรักพระเจ้า และข้อที่สองคือเธอก็เป็นแค่แม่ที่รักลูกได้สุดหัวใจเหมือนแม่คนหนึ่งทั่วไปเท่านั้นเอง
เกร็ดสุดท้าย—Him ซึ่งเขียนตัวแรกด้วยอักษรตัวใหญ่เสมอ คริสเตียนใช้เมื่อเราเรียกพระผู้เป็นเจ้า จะไม่เขียนด้วยตัวเล็ก ซึ่งนั่นก็ตรงกับที่ใน end credits ขึ้น และอีกข้อที่ยืนยันเรื่องนี้คือการที่ตัวเอกเรียกตัวเองว่า I am ซึ่งเป็นคำที่พระเจ้าพูดกับมนุษย์บ่อยครั้งว่า เราเป็นอยู่ (ตั้งแต่เริ่มจนอวสาน)