
อยากได้เครื่องจริงๆ มาลองจริงจัง (แต่ราคาขายที่ Walmart ขายอยู่ $150 แน่ะ) เลยแก้เก้อด้วยการไปพลิกอ่านดูว่า Software ของ OLPC XO มีอะไรอยู่ในนั้นบ้างไปพลางๆ และพบว่ามีฟีเจอร์ต่างๆ เต็มไปหมดเลย ผมเลยลองจัดกลุ่มออกมาดูเพื่อประโยชน์ในการต่อยอดว่าหากคิดจะทำบ้าง เราน่าจะทำอะไรและไม่ทำอะไร
Locations
ฟังดูเข้าท่าที่สุดสำหรับการให้แท็บเล็ตแก่เด็ก คือควรใช้เป็นอุปกรณ์แสดงตำแหน่งของเด็ก (จริงๆ แล้วของแท็บเล็ต) ได้ด้วย ผมชอบอยู่สองแอพครับ คือ Neighborhood เป็นแอพที่เอาไว้ดูเพื่อนๆ ที่อยู่ใกล้ๆ กันผ่านระบบแผนที่กลายๆ กับ Home ที่เป็นระบบปักหมุดเรื่องที่เด็กๆ สนใจไว้บนแผนที่ของตัวเอง (ยังไม่ชอบชื่อเท่าไรนัก) ส่วน Chat นั้นจริงๆ อยู่หมวดอื่นแต่ควรจะรวมเข้ามาอยู่ในนี้เลยมากกว่าเพราะโดย Usability แล้ว การสื่อสารต้องเกิดแบบมี หนึ่งต้นทางและหนึ่งปลายทางอยู่แล้ว การรวมเรื่องนี้เข้าไว้กับการบอกตำแหน่งจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และสำหรับเด็กๆ การบันทึกตำแหน่งที่อยู่ระหว่างแชทตลอดเวลาเป็นเรื่องดี ไม่ควรเปิดโอกาสให้ปิดทิ้งได้ไปเลย (เว้นแต่แบตหมด)
ซึ่งทำให้คิดต่อไปได้ว่าแอพที่น่าจะมีแต่เหมือนจะไม่มีคือ “Find my kids” ใช้ติดตาม OLPC XO ของลูกๆ เราแต่ละตัวได้ นอกจากจะเอาไว้กันของหายแล้วเผื่อลูกไปเล่นริมทะเลจะได้เห็นหรือสื่อสารกับลูก (เช่น เรียกมากินข้าวได้แล้ว ตัวโตๆ ha-ha) ได้ด้วย และอีกอย่างที่น่าจะมีคือระบบการรีเซ็ตเครื่องจากทางไกล เปิดโอกาสให้จัดการได้ทั้งในกรณีเครื่องหายและเมื่อต้องแก้ปัญหาให้เด็กๆ
สิ่งที่ควรระแวงอีกอย่างคือการรู้ตำแหน่งของเด็กคนอื่นอาจทำให้เกิดการประยุกต์ใช้เรื่องนี้ไปในทางที่ไม่ดีได้
Browser
จริงๆ เว็บเบราเซอร์น่าจะทำอะไรได้มากกว่าเป็นแค่เบราเซอร์ธรรมดาน๊า… แต่อีกใจก็นึกว่าปล่อยไว้ให้เครื่องมือมีหน้าตาเป็นมาตรฐานเพื่อให้ User Experience ส่งผลไปถึงตอนโตเลยก็น่าจะดีอยู่แล้ว
แต่ก็ยังมีเรื่องชวนให้ขัดใจอย่างการสร้าง Wikibrowse ซึ่งเป็นเบราเซอร์ต่างหากสำหรับ Wikipedia.org ของอย่างนี้เป็นแค่ Bookmark ในเบราเซอร์ก็พอได้นะครับ
Documents
มีแอพสำหรับจด (ตัวหนังสือ) ชื่อ Write… ชอบครับ เด็กๆ จะได้เอาไว้บันทึกอะไรต่อมิอะไรกรณีเป็นเด็กช่างเขียน และผมพบว่ามีแอพอีกตัวที่คล้ายๆ กันแต่อยู่แยกกัน คือ Paint จริงๆ ควรเปิดโอกาสให้แค่ตัว Write เองบันทึกได้ระดับ scrapbook (คือวาดรูป และเอารูปหรืออะไรต่อมิอะไรมาแปะก็ได้เลย) ก็จะดีมากกว่า (ข้อจำกัดอาจเกี่ยวกับเรื่องกำลังของเครื่องหรือเปล่า นั่นเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาต่อไป ส่วนการอ่านหนังสือ มีแอพชื่อ Read
Kids Tracker
Journal เป็น Kids Tracker สำหรับผู้ปกครอง จริงๆ แล้วน่าจะแยกออกจากตัวเครื่องไปเลยมากกว่า เพราะการรวมฟีเจอร์สำหรับพ่อแม่ไว้ในเครื่องด้วย มองในแง่ Usability อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ใช่เจ้าของเครื่องอย่างแท้จริง (เพราะมีหลายจังหวะที่พ่อแม่ต้องเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการกับเครื่องซึ่งควรมีเด็กเป็นเจ้าของ) ความรู้สึกที่เด็กอยากจะพกติดตัวไปไหนมาไหนด้วยตลอดเวลาจึงน่าจะน้อยลง เพราะคิดว่าควรเป็นภาระการดูแลร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูก ส่งผลให้ฟีเจอร์ในกลุ่ม Location-based (ช่วยระบุสถานที่ของเด็ก) และการบันทึกกิจกรรมของเด็กอาจพลาดข้อมูลสำคัญๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
Downloads จริงๆ เอาไว้ใน Journal เลยก็ได้ครับจะได้ดูทีเดียว และได้เห็นลำดับเวลาการใช้การโหลดของเด็กๆ เป็นภาพเดียวกันได้ดีกว่าด้วย
Utilities

- Record แอพอัดวิดีโอ… ไม่มีปัญหาครับดีครับ แต่รูปที่เอามาแสดงน่ากลัวไปหน่อย ขอคอมเม้นท์เท่านี้ (ha-ha)
- Ruler ดีเลยเอาไว้วัดขนาดของสิ่งต่างๆ คร่าวๆ พอได้ ช่วยในการเรียนรู้
on OLPC OX? Nah, rather not.
ต่อไปเป็นรวมฟีเจอร์ที่แปลกๆ และเสียงแซวจากผมเอง (ha-ha)
มีแอพบางส่วนที่น่าตะขิดตะขวงใจพอสมควร ไม่ค่อยเห็นด้วยครับเลยแยกออกมาเพราะคิดว่าทำให้ OLPC XO ดูประหลาดและผิดเพี้ยนจากเป้าหมาย หรือบางแอพก็ถึงขั้นก็เปลืองเนื้อที่ไปโดยไม่จำเป็นเลย
- Friend Groups ไม่เห็นจำเป็นเลย เพราะเด็กเดินทางไปข้างนอกเองไม่ได้อยู่แล้ว การรวมตัวของเด็กจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปแทบไม่ได้ถ้าไม่ใช่ตามบ้านเพื่อนหรือโรงเรียน ซึ่งถึงจะเป็นอย่างนั้นจริง ผู้ใหญ่ก็ต้องจัดการเรื่องการเดินทางให้อยู่ดี แล้วจะรู้ไปทำไม?
- Activity เสิร์ชหากิจกรรมทั่วโลก หลังจากนั้นเอาไปทำอะไรต่อไป?
- Calculate สิ่งต้องห้ามสำหรับการเรียนรู้คือเครื่องมือลัด
- Chat จำเป็น แต่ไม่ควรอยู่แยก ทำให้สวยและอยู่กับแอพ Location-based เลยจะดีกว่านะ
- Implode, Memorize และ Maze… เกม? อันที่จริง Market Position ของ OLPC XO ควรเป็น “สิ่งที่ทำให้เด็กไม่อยากอยู่เฉยๆ” เด็กไม่ควรใช้เวลาทั้งวันเพื่อนั่งดูมัน แต่มันควรเป็นเข็มทิศและบันทึกที่แสนสะดวกของเด็กมากกว่า
- Distance ระยะห่างจากเครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องหนึ่ง? สิ่งที่ควรเป็น น่าจะบอกระยะห่างจากเครื่องของเด็กถึงเครื่องของฉันซึ่งเป็นพ่อหรือแม่ของเด็กมากกว่า
- Etoys (แอพเขียนโปรแกรมให้หุ่นวิ่ง), Turtle Art (แอพสอนเขียนโปรแกรมที่ทำให้ผมนึกถึงภาษา Logo) และ Moon (ข้อมูลเกี่ยวกับดวงจันทร์และข้างขึ้นข้างแรม) คือความพยายามมากเกินไปในการสอนคอมพิวเตอร์ในวันที่ 1 ของชีวิตเด็ก ไม่ใช่เด็กทุกคนอยากเป็นโปรแกรมเมอร์หรือนักดาราศาสตร์ แต่เด็กทุกคนควรใช้ OLPC XO ได้ทุกส่วนเพื่อเรียนรู้ทุกๆ อย่างได้
- อันนี้ขอแยกออกมาข้อหนึ่งเลย Pippy (แอพสอนการเขียน Python) และ Scratch (แอพสอนเขียนแอนิเมชัน) สองแอพนี่คืออะไร??!!?! (ha-ha) อ่านเหตุผลในข้อเมื่อกี้ครับ
- Help ไม่ต้องหรอกครับเด็กไม่อ่าน ควรเป็น document แถมให้พ่อแม่เด็กมากกว่า
- Log และ Terminal อันนี้เป็นฟีเจอร์ในเครื่องเลยเพื่อเอาไว้ให้คุณพ่อล็อกอินเข้าไปรีเซ็ทเซิฟเวอร์ตัวเองหรือฝึกให้เด็กเขียน vi ครับ? (ha-ha) ไม่น่าเรียกเป็น features เลย ทำคนงงเปล่าๆ
- Measure แอพสร้างกราฟเสียงหรือสัญญาณ… อย่าว่าแต่เด็กเลยครับผมดูแล้วยังใช้ไม่เป็น (ถ้าเจอเด็กที่อาจจะใช้เป็นผู้อ่านช่วยบอกด้วย 😀
- Speak แอพถามมาตอบกลับด้วยเสียงตลกๆ …ก็ดีนะครับกรณีเราอยากให้ลูกเรามี Imaginary Friends เยอะๆ (แต่ผมไม่เอาล่ะ)
- Tamtam Edit และ Tamtam Mini แอพสร้างเพลง? โอเคครับอาจจะดีก็ได้ แต่ผมคิดว่ามันเฉพาะทางเกินไป อยากจะไม่เห็นด้วย แต่ด้วยความที่ Interface เป็นกราฟิกเข้าใจง่ายพอสมควร มีโอกาสที่เด็กอาจจะใช้มันได้เป็น เป็นไปได้ครับว่าอาจจะดี แต่คำถามคือ ทำไมต้องมีสองแอพ? ทำเป็นแอพเดียวไม่ได้หรือ? ถ้าเป็นเหตุผลเรื่องกำลังเครื่องจะเข้าใจครับ
- Tamtam Jam และ Synth Lab หนักเข้าไปอีกด้วยแอพสร้างลูปดนตรีและแอพผสมคลื่นเสียง 4 แอพเพื่อดนตรี? สูสีกับแอพเขียนโปรแกรมเลยครับ …เยอะ
Usability Measurement
สรุปความรู้สึกที่มีต่อ OLPC XO ในมุมของคนสนใจเรื่องการศึกษาของเด็กได้ดังนี้ครับ
- ด้านดีคือมีแอพที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็กอยู่พอสมควรครับ ถ้าทำให้เด็กรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของได้แบบ 100% นี่จะเป็นเข็มทิศชั้นดีที่เปิดโลกกิจกรรมของเด็กและทำให้เด็กเรียนรู้ได้ไม่รู้จบแน่ๆ และจะส่งผลดีในแง่ใช้ดูแลเด็กในระยะใกล้ๆ แบบไกลๆ ได้ด้วย
ส่วนด้านไม่ดีมีเยอะครับ 🙂 ส่วนใหญ่คือ ยังไม่ถึงเวลาต้องเรียนรู้ เพราะเป็นความรู้กลุ่มที่มีทางตันหากไม่มีทฤษฎีเป็นตัวนำทาง
- แอพหลายอย่างมาผิดที่ผิดเวลา ถ้านี่คืออุปกรณ์สำหรับเด็ก 5-10 ปีจริงๆ การเขียนโปรแกรมด้วยไพธอนนั้นอาจยังไม่จำเป็น
- พอๆ กับการทำเพลงซึ่งเด็กควรได้เรียนดนตรีจริงๆ มากกว่า หรือถ้าจะเขียนเพลงก็ควรมีทฤษฎีดนตรีไว้นำทาง และแน่นอนนั่นไม่ใช่เด็กทุกคนจะทำเพลงมั่วๆ ในแอพเขียนเพลงแล้วออกมาฟังเพราะได้ทุกคน
- เขียนแอพแอนิเมชั่นหรือโปรแกรมหุ่นยนต์ ซึ่งแม้จะทำให้เข้าใจตรรกะของการเขียนโปรแกรมได้ดี แต่การที่เมื่อโตขึ้นภาษาในระดับที่เด็กเขียนไม่อาจเป็นประโยชน์ได้จริง ถ้ามองแบบนี้ แอพ Pippy ไพธอนเบื้องต้น (เจ้างูน้อย) ยังดูจะเข้าทางกว่า
- ยังมี Workflow การเรียนรู้ของเด็กกระจัดกระจายและไม่ชัดเจน อันที่ดูใกล้เคียงที่สุดคือแอพชื่อ Home, Write กับ Journal หรือถ้าจะดูพัฒนาการจากความคืบหน้าของ Bookmarks หรือโน้ตข้อความใน Read ก็อาจจะพอได้ แต่นอกนั้นไม่มีตัวไหนบอกความคืบหน้าทางความรู้ของเด็กได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือกว้างพอจะประมาณการความคิดหรืออนาคตของเด็กได้เลย
ยังมีจุดให้ไปต่อได้อีกมาก หวังว่าเพื่อนๆ น้องๆ ที่กำลังทำแอพเพื่อการศึกษาจะทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปกว่านี้ได้อีก เพื่ออนาคตของเด็กไทยนะครับ
เราห่วงเด็กไทยด้วยกันเนาะ!