*ไม่ใช่บทความวิจารณ์หรอกแค่อยากเล่าสู่กันฟัง หลังจากไปดูมา
พวกเราทุกคนล้วนเคยโดนสะกดจิตจากทั้งสองฝ่าย คือจากกลุ่มคนที่เชื่อว่าแต่งงานนั้นดี และอีกฝ่ายที่เชื่อว่าอยู่คนเดียวสบายกว่า

ครั้งหนึ่งในชีวิตของคน (เคย) โสดทุกคนต้องเคยตอบคำถามว่า “เมื่อไหร่จะถึงคิวแต่งบ้าง?” มากครั้งพอๆ กับที่คนแต่งงานแล้วมักจะถูกถามต่อว่า “แล้วจะมีเจ้าตัวน้อยเมื่อไรดี?” ซึ่งถ้ามีคำตอบที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าไม่ได้เตรียมใจไว้ คำถามพวกนี้บางทีก็นำพาให้เราพาลกลับมาคิดต่อจริงๆ ไม่ได้ว่า “หรือเราจะผิดจริงๆ ที่ยังโสดหรือไม่มีคู่?”
The Lobster เอาขนบคิดเรื่องชีวิตเดี่ยวและคู่ที่ดูจะเป็นสากลมากๆ ในทุกสังคมเรื่องนี้มาล้อเล่นโดยการเล่าเรื่องเชิงอุปมา (metaphoric) เทียบเข้าไป แล้วตรงเข้าไปดึงเฉพาะแก่นของความคิดนั้นออกมาให้เราอีกทีแบบไม่มีน้ำเสียงดราม่าหรือความกดดันรอบข้างเข้ามาชักจูงให้เราหลงทาง (ตั้งแต่ภาพยันน้ำเสียงแบบโมโนโทนที่ใช้ดาราใช้ในบทพูด) หนังแสดงเป็นสองภาคเหมือนศึกโต้คารมมัธยมศึกษาโดยเอาวาทะเด็ดจากทั้งสองหลักปรัชญามานำเสนอพร้อมทั้งตัวอย่าง เสร็จแล้วก็สรุปจบเรื่องแบบผลที่ได้ก็ไม่ค่อยเอกฉันท์นัก ปล่อยให้เรากลับบ้านไปคิดดูเอาเองว่าแต่ละประเด็นเหล่านี้ที่คนมักพูดถึงเรื่อง “โสด vs มีคู่” นั้น มันมีน้ำหนักสำหรับเราจริงๆ หรือว่าเราโดนมายาคติเหล่านี้หล่อหลอมให้เราคล้อยตามไปโดยลืมดูไปแล้วว่ามันเหมาะหรือไม่เหมาะกับเรา?
ผมรวบรวมประเด็นโต้วาทีที่น่าสนใจทั้งจากฝ่ายเสนอและฝ่ายค้านออกมาได้ประมาณนี้ เชื่อไม่เชื่อก็คงต้องแล้วแต่เรา
โลกของคนอยากมีคู่

- ไม่มีคู่แปลว่ายังไม่ (เป็นคนโดย) สมบูรณ์ หนังบอกว่าถ้าไม่มีคู่เสียที ในที่สุดเราก็ไม่ต่างกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ คุณค่าของความเป็นคนจะหายไป อย่างที่ในหนังเราได้สิทธิ์เลือกว่าเราจะกลายเป็นสัตว์ชนิดใดก็ได้ ซึ่งเหตุผลของการอยากเป็นล็อบสเตอร์ของพระเอกก็ตลกมากแม้จะพูดในน้ำเสียงไร้อารมณ์คล้ายท่องจำมาก็ตาม
- มีคู่เถอะ จะได้มีคนดูแลตอนลำบาก การแสดงตัวอย่างที่โรงแรมทำให้เราเข้าใจมายาคติของคำว่า “คนโสดมักดูแลตัวเองไม่ค่อยได้” ได้อย่างชัดเจน ไม่ใครก็ใครต้องเคยเจอเหตุผลพวกนี้จากคนรู้จักของเราถ้าถามว่ามีคู่แล้วดีอย่างไร
- คู่แท้ต้องมีอะไรเหมือนกัน ผมเองก็เคยตั้งเงื่อนไขนี้ไว้ในใจด้วยเหมือนกัน อย่างน้อยก็อยากจะให้เหมือนกันสักเรื่อง แต่พอมานึกดูจริงๆ ผมไม่รู้ว่าหลังแต่งงานไปจริงๆ เราได้ใช้ส่วนที่เหมือนกันนั้นด้วยกันบ่อยๆ เสมอไปในทุกคู่ไหม… ซึ่งถ้าส่วนนี้ถูกนำกลับมาใช้บ่อยๆ ได้จริงหลังแต่งงานผมว่าก็คงเข้าทีนะ ถ้าไม่บังเอิญเกิดเบื่อขึ้นมา หรือกลายเป็นว่าเรื่องที่ไม่เหมือนกันอื่นๆ ทำให้เราบาดหมางจนไม่อยากทำอะไรเหมือนๆ กันอีกแล้วไปเสียก่อน
- มีไปก่อน เดี๋ยวก็รักกันเอง นั่นแปลว่ามีคู่เป็นเรื่องง่าย ซึ่งถ้าดูเรื่องนี้จริงๆ ผมว่ามันก็พอเป็นไปได้ถ้าทั้งสองฝ่ายเปิดใจรับกันได้จริงๆ (นั่นแปลว่าสมัยพ่อแม่เราคนเปิดใจรับกันได้ง่ายกว่าคนสมัยนี้หรือเปล่านะ?)
- ถ้าอยากโสดไปเรื่อยๆ คุณควรอ้างไปเรื่อยๆ ว่ายังไม่เจอคนที่ถูกใจ ผมว่าในหนังสะท้อนภาพนี้ออกมาในรูปของการออกล่าพวกคนโสดเป็นแต้มสำหรับอยู่โสดต่อ ให้ความรู้สึกว่าเป็นเรื่องของการประณามหยามเหยียดความโสดเพียงเพื่อจะได้เครดิตในการ “ใกล้จะแต่งแล้ว” มากขึ้นไปเรื่อยๆ บางทีคนโสดก็ต้องหาทางออกประมาณนี้เหมือนกัน คือต้องตอบอะไรที่น่าฟังเหมือนกับว่าทัศนคติเรานั้นกำลังโน้มเอียงมาทางฝั่งคนอยากมีคู่มากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ชีวิตของเราจะดูมีหวังขึ้น และพ่อแม่จะห่วงเราน้อยลง
- อยู่ก่อนแต่งก็ได้ จะได้รู้ว่าอยู่ด้วยกันได้ไหม คนสมัยนี้เห็นเป็นเรื่องปรกติไปแล้วจริงๆ
ส่วนในโลกของคนโสดนั้นก็มีแนวคิดที่น่าทึ่งไม่แพ้กัน ดังนี้
ในโลกของคนอยากอยู่โสด

- อยากเข้าสังคม ก็ต้องแอ๊บไม่โสด แล้วคนก็จะไม่มาวุ่นวายกับเราเวลาจะเข้าเมืองเข้าสังคม ต้องไปพบปะผู้คนพบปะพ่อแม่ ถ้าไม่อยากให้เขาห่วงก็ต้องพาแฟนไปด้วย ไปเดินห้างก็กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง โดนมองดูแปลก โดนตรวจสถานภาพอยู่ตลอดเวลา
- การเป็นโสดคือการรอวันตายอย่างโดดเดี่ยว ในหนังพยายามให้เราเห็นภาพเหมือนคนที่ dig your own grave (ขุดหลุมรอฝังตัวเอง) เตรียมไว้ด้วย กวนมาก ha-ha
- เมื่อตัดสินใจว่าจะโสดแล้ว การคิดเรื่องมีคู่อีกเป็นบาป ผมเจอเพื่อนหลายๆ คนที่พอตัดสินใจว่าจะอยู่โสด (ไม่ว่าจะผิดหวังจากความรักก่อนหน้านี้หรือตั้งใจมาแต่แรก) กลายเป็นคนที่ไม่ชอบฟังเรื่องทัศนคติดีๆ ในการมีคู่อีกเลย ทั้งที่ในความเป็นจริงมันก็มีข้อดี เพียงแต่ว่ามันไม่มีอะไรที่ตายตัวเสมอไปในทุกๆ คู่เท่านั้นเอง
การแต่งงานนั้นเป็นเรื่องแบบคนในอยากออก คนนอกอยากเข้า
นี่เป็นอีกคำที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ นั่นเพราะว่าหญ้าอีกฝั่งของสวนมักดูแล้วเขียวสวยกว่าตรงที่เรายืนอยู่เสมอ
หรือจริงๆ แล้วจะเหมาะหรือไม่เหมาะมันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ละห้วงเวลา แต่ละสถานการณ์ที่เหมาะสมมากกว่า? ส่วนใครที่อยู่ดีๆ จะอยากกลับมาอยู่เดี่ยวหรือเปล่าเปลี่ยวจนอยากจะเปลี่ยนมาอยู่คู่สุดท้ายก็คงเป็นแค่เรื่องสภาวะไหนที่เรายินดีจะจ่ายเพื่อให้จิตเรานิ่งพอจะใช้ชีวิตของเราขณะนี้ต่อไปได้เท่านั้นเองหรือเปล่า? นั่นเป็นสิ่งที่ผมคิดว่า The Lobster บอกว่าหลังจากใคร่ครวญประเด็นพวกนี้ในหนังจบครบถ้วนแล้ว เราคงต้องค่อยมาถามใจเราดูเองอีกที
ว่าจากข้อดีข้อเสียทั้งสองด้าน เราเหมาะจะยืนอยู่จุดไหน ณ ตอนนี้
