ทุกครั้งที่เจอหนังสารคดี…
เอกลักษณ์อันชัดเจนยิ่งของหนังสารคดี สำหรับผมมักจะนึกถึงสภาพไร้ไคลแม็กซ์ที่ยาวนาน หลายครั้งมัวอ้อยอิ่งอรรถาธิบายประวัติความเป็นมายืดยาวยาวนานกว่าจะเข้าประเด็น เจอบ่อยจนคิดว่าคนดูหนังส่วนใหญ่ไม่ชอบสารคดีเพราะเหตุนี้ทั้งที่มันมีโปรตีนมากกว่า แต่ที่เรารู้สึกอย่างนั้นก็คงเพราะว่าเราเสพย์ติดไคลแม็กซ์แบบฮอลลีวู้ดจนเคยชินเข้าให้แล้ว
รู้ตัวว่าติดและอยากเลิก? วิธีเลิกที่ค่อนข้างดีคือไปเทศกาลหนังครับ แต่สมัยนี้มีทางที่สะดวกกว่านั้นอีกคือการเข้าแอพ Trailers บน iOS แล้วก็ไล่ดูหนังไปเรื่อยๆ รวมทั้งหนังสารคดีด้วย พักก่อนผมลองไล่ดูเล่นๆ แค่อยากจะตามให้ทันว่าทุกวันนี้หนังไปถึงไหนแล้ว การณ์ปรากฏว่าตอนนี้นิยมหนังสารคดีไปหลายเรื่องแล้ว เดี๋ยวนี้เขาทำออกมาได้น่าดูไม่ว่าจะมองในมุมศิลปะการถ่ายภาพ การร้อยเรียง หรือจะเป็นประเด็นที่เลือกมาทำ
นี่อยากดู Searching for Sugarman, Finding Vivian Maier, Afternoon of a Faun, etc. แต่ตอนนี้จะขอกล่าวถึง Maidentrip สารคดีเด็กถ่ายตัวเองเมื่อครั้งล่องเรือรอบโลกตอนอายุ 14-16 ปี ใช่ อายุแค่นี้จริงๆ (แต่ในเรื่องตัวสูงใหญ่ดูเป็นสาวแล้วล่ะ)
คำว่าสารคดียิ่งใหญ่ไปไหม?
อาจจะยิ่งใหญ่ไปสำหรับเรื่องนี้ แต่ในยุคที่ใครๆ ก็มีกล้องได้และขอแค่เราได้พบใครสักคนที่ตัดต่อวิดีโอเรียบเรียงเนื้อหาได้เป็นอย่างดี เพียงเท่านี้เราก็คาดหวังหนังส่วนตัวที่ใกล้เคียงความเป็นสารคดีได้แล้ว หากเราจะสรุปยอมความกันว่าสารคดีหมายถึงฟุตเตจจากเรื่องจริงเท่านั้น…อืม จริงๆ แล้วการเรียก Maidentrip ว่าเป็น Private Documentary (สารคดีส่วนตัว) ก็ดูจะเข้าท่ามากกว่านะครับ เพราะอันที่จริงแล้วลอรา เด็กเกอร์เองก็คงจะไม่แคร์นักถ้าคนจะวิจารณ์ทั้งหมดนี้ว่าอะไร เธอก็แค่เล่า และลงท้ายมันก็อาจเป็นแค่บันทึกความทรงจำของเธอซึ่งอาจจะไม่ได้คาดหวังรางวัลใดๆ
ดีไม่ดีอยู่ที่คนตัดต่อ
คนที่น่าจะได้รางวัลน่าจะเป็นคนตัดต่อและผู้กำกับการตัดต่อที่เลือกภาพจากฟุตเตจกว่า 500 วันบนเรือของลอราออกมาเรียงเป็นเรื่องราวได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่งงเท่าไร และมีหลายจังหวะทีเดียวที่ภาพทะเลดูสวยงามซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะลอราเองก็ถ่ายมาได้ดี แต่ก็อย่าคาดหวังว่าจะมีเส้นเรื่องหรือพล็อตที่น่าสนใจ หรือไคลแม็กซ์ตื่นเต้นจนนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้ ไม่ค่อยมีนะครับ
Maidentrip นั้นเป็น autodocumentary (สารคดีถ่ายเอง) แบบเรียบง่ายตัวหนึ่งที่คนเรียนหนังหรืออยากจะลองประกอบชีวิตตัวเองให้กลายเป็นสารคดีอ่อนๆ สักเรื่องอาจใช้เป็นตัวอย่างในการร้อยเรียงเรื่องราว เพราะเป็นการพึ่งหัวข้อพื้นๆ อย่าง ครอบครัว ความรักที่มีต่อเรือ ความคิดที่มีต่อการเดินทาง ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมประกอบภาพ insert ทั้งภาพนิ่งและโฮมวิดีโอจากบ้านของลอราเข้าไปอีกจำนวนหนึ่ง นำทั้งหมดนั้นมาเรียงสอดแทรกเข้าไปในหนังได้จังหวะสวยงามดี รับกับฟุตเตจจากเรือ ช่วยคนดูทันไม่ให้เมาคลื่นจนเกินไป
‘Dream’ is a magic word
ไม่แปลกที่จะมีคนบอกว่า Maidentrip เป็นแค่สารคดีเชิดชูวีรกรรมท่องโลกตามความทะเยอทะยานของลอรา เดกเกอร์ เด็กสาวอายุ 14 คนหนึ่งเท่านั้น ไม่มีอะไรดี ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นมากมาย มันก็ใช่เลยล่ะหากเราจะเลือกมองจากมุมมองว่ามันเป็นหนัง ในความรู้สึกผมนะ หนัง (feature film) และหนังสไตล์สารคดี (mockumentary) และสารคดี (documentary) สมัยนี้แตกต่างกันเพียงวางเส้นยาแดงผ่าแปดคั่น คือถ้ามองด้วยตาก็อาจแยกไม่ออก
ในสายตาใครหลายคนอาจมองว่าเรื่องนี้ไม่เห็นสำคัญอะไรเลย แต่ส่วนตัวผมเองผมรู้สึกว่าถ้าเป็นไปได้ผมอยากให้เด็กๆ หลายๆ คนรอบตัวได้ดู เพราะนอกจากภาพเด็กที่มีความทะเยอทะยานเกินเด็กอายุ 14 ที่เราอาจหาดูที่ไหนก็ได้ทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตของลอรา เด็กเกอร์แตกต่างจากอีกหลายคนคงเกิดจากการใช้ส่วนผสมของความฝันและความจริงขึ้นมาในขนาดเท่าๆ กัน ไม่ใช่แค่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เธอเกิดในเรือ พ่อแม่แยกกัน พ่อรักการเดินเรือและทำทุกอย่างเพื่อสอนลูกให้รู้จักสิ่งที่ตัวเองรัก และสิ่งนั้นกลายเป็นสายสัมพันธ์เส้นโตที่ขึงใบเรือชีวิตของลอรา ให้รับลมและพาเธอไปข้างหน้าได้เร็วกว่าใคร
เราได้เห็นพ่อแม่ที่สนับสนุนด้วยกำลังกายทั้งหมดเท่าที่มี และการผลักดันเด็กอย่างจริงใจ จนเมื่อหลายเรื่องนั้นเกินความสามารถของพวกเขาแล้วและต้องปล่อยเด็กต้องสานต่อเอง เช่น การพยายามหาสปอนเซอร์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เคยหยุดให้กำลังใจ
ชีวิตเธอ ของเธอ
สิ่งที่ผมเห็นระหว่างคือการเติบโตขึ้นของเด็กผู้หญิงคนนี้หลายๆ ส่วน จากฝันที่เราต้องเริ่มต้นของเราเองคนเดียว เราได้เห็นวิธีคิดของเด็กที่เห็นคุณค่าของการล่องเรือรอบโลกแบบไม่พยายามจะทำ non-stop trip เพื่อให้ได้เวลาที่ดีที่สุด ตรงกันข้าม เธอแวะพักหลายที่ ใช้ชีวิตรู้จักคนเพิ่มอีกหลายคนเพราะเธอรู้ว่าสิ่งที่เธอต้องการคือประสบการณ์ เธอไม่ได้ต้องการเป็นปรากฏการณ์
ก็จริงอยู่ที่เรื่องของตัวเราย่อมสำคัญสำหรับตัวเราเท่านั้น บางทีการเดินทางด้วยเรือใบรอบโลกของลอรา เด็กเกอร์ นั้น ประเด็นอาจจะไม่ได้อยู่ที่เดินทางให้สำเร็จตามเป้าหมายเลยด้วยซ้ำดังที่เราจะได้ยินตอนท้ายๆ เรื่องว่านึกๆ เธอก็ยังไม่อยากเลี้ยวเข้าเส้นชัย หนังเรื่องนี้ก็เลยอาจไม่สำคัญอะไรเลยสำหรับเธอด้วยซ้ำ
และถ้าเราแค่อยากจะฝันและไม่ได้อยากจะลงมือจนสำเร็จเหมือนคนที่ถ่ายวิดีโอเรื่องนี้ สารคดีส่วนตัวเรื่องนี้ก็คงไม่ได้สำคัญอะไร เพราะชีวิตเราก็ของเรา ผลของการใช้ชีวิตสุดท้ายก็กลับมาอยู่กับเราอยู่ดี